Saandee Pets Pets 5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำหมันกระต่าย

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำหมันกระต่าย


ทำหมันกระต่าย

            นอกจากการให้อาหาร และดูแลยามเจ็บป่วยแล้ว หนึ่งในหน้าที่สำคัญ ที่คนเลี้ยงกระต่ายต้องทำ ก็คือ “การทำหมันกระต่าย” เพื่อให้เขายังมีสุขภาพดี อยู่กับคุณไปได้อีกนาน

            แต่ก่อนจะพากระต่ายไปทำหมัน เชื่อว่าหลายคนคงมีความกังวลใจกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเลี้ยงกระต่ายตัวแรก ว่ามันมีกระบวนการอย่างไร จะดีกับกระต่ายจริงไหม และคนเลี้ยงต้องรู้อะไรบ้าง

            วันนี้เราจะชวนมาคลายข้อสงสัย และคลายความกังวลใจ ไปพร้อมกัน

ความหมายของการทำหมันกระต่าย

            ทำหมันกระต่ายก็ไม่ต่างจากการทำหมันในคน เพราะเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวร เพื่อไม่ให้สืบพันธุ์ หรือมีลูกต่อไปได้อีก โดยสามารถทำได้ทั้งในกระต่ายตัวผู้ และกระต่ายตัวเมีย

            อย่างไรก็ตาม การทำหมันอาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์หลังทำทันที เพราะในตัวผู้อาจเหลืออสุจิคงค้างในท่อนำอสุจิได้ จะเห็นได้ว่าบางเคสทำหมันตัวผู้แล้ว แต่ก็ยังทำให้ตัวเมียท้องได้อีก ดังนั้น หลังจากทำหมันกระต่ายแล้ว ผู้เลี้ยงควรแยกเลี้ยงตัวผู้กับตัวเมียประมาณ 3 สัปดาห์ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่ากระต่ายของคุณเข้าสู่ระยะปลอดภัยแล้วจริงๆ

วิธีทำหมันกระต่าย

            สำหรับวิธีทำหมันกระต่ายตัวผู้ สัตวแพทย์จะกรีดเปิดแผลเล็กๆ บริเวณถุงอัณฑะ แล้วผ่าตัดนำเอาลูกอัณฑะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอสุจิ และแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศ ออกมาจากถุงอัณฑะ ก่อนจะเย็บปิดแผล

            ส่วนการทำหมันในกระต่ายตัวเมีย สัตวแพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณหน้าท้องเพียงเล็กน้อย เพื่อผ่าตัดเอารังไข่ ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตเซลล์สืบพันธุ์ และมดลูกที่เป็นแหล่งฝังตัวของตัวอ่อน ของกระต่ายออกมา แล้วเย็บปิดแผล

ทำหมันกระต่ายต้องใช้ยาสลบ

            เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงมีความกังวลมากที่สุด เพราะกลัวกระต่ายไม่ฟื้นขึ้นมาอีก หลายคนจึงเลือกไม่ทำหมันกระต่ายไปเลย

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องบอกว่า การทำหมันในกระต่าย รวมถึงสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น เช่น สุนัข แมว หนูแกสบี้ ถือเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างใหญ่ สัตวแพทย์ต้องใช้สมาธิสูง เพราะถุงอัณฑะ รังไข่ และมดลูกของสัตว์ มีขนาดเล็กกว่าของคนหลายเท่า จึงจำเป็นต้องใช้ยาสลบในกระบวนการผ่าตัด

            แต่ก่อนจะใช้ยาสลบ สัตวแพทย์จะตรวจสุขภาพของกระต่ายอย่างละเอียดก่อนเสมอ เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากค่าเลือด หรือมีสิ่งใดที่แสดงว่ากระต่ายไม่พร้อมรับยาสลบและการผ่าตัด แน่นอนว่าจะได้รับคำแนะนำให้เลื่อนการทำหมันไปก่อน จนกว่าสภาพร่างกายจะแข็งแรง

ช่วงอายุที่ควรทำหมันกระต่าย

            ช่วงอายุที่ควรทำหมันกระต่าย คือประมาณ 4-6 เดือนขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) เพราะเป็นวัยที่กระต่ายตัวผู้เข้าสู่การเป็นหนุ่ม และผลิตอสุจิที่มีคุณภาพพร้อมสืบพันธุ์แล้ว ส่วนกระต่ายตัวเมียก็จะยอมรับการผสมพันธุ์ได้ และผสมติดได้ดีในช่วงนี้

            ทั้งนี้ ถ้านำกระต่ายที่อายุมากกว่า 2 ปีไปทำหมัน จำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพแบบเข้มข้นมากขึ้น เพราะถือว่าเป็นวัยผู้ใหญ่ ที่ร่างกายอาจไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิมแล้ว

ทำหมันกระต่ายช่วยให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น

            อย่างที่ทราบกันแล้วว่า การทำหมันกระต่าย ช่วยลดฮอร์โมนเพศลงได้ จึงทำให้กระต่ายตัวผู้ที่ทำหมันแล้ว ลดพฤติกรรมความก้าวร้าวลงได้ เช่น ไม่ปัสสาวะไปทั่ว เพื่อแสดงอาณาเขต ไม่กัดกับกระต่ายตัวผู้ด้วยกันเอง เป็นต้น รวมถึงลดโอกาสเกิดมะเร็งอัณฑะได้อีกด้วย

            ส่วนการทำหมันกระต่ายตัวเมีย จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมดลูก และปีกมดลูก มดลูกอักเสบ และลดโอกาสในการเป็นมะเร็งมดลูก รวมทั้งลดความก้าวร้าวลงได้เช่นเดียวกัน

            จากเรื่องราวน่ารู้เหล่านี้ จะเห็นได้ว่า การทำหมันกระต่ายไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด และมีข้อดีมากมาย แต่ถึงอย่างไร กระต่ายก็เป็นสัตว์เลี้ยงที่ค่อนข้างบอบบาง ดังนั้นควรพากระต่ายไปทำหมันในโรงพยาบาลสัตว์เฉพาะทาง หรือคลินิกที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องกระต่ายเป็นอย่างดี เช่น Premier Pet Hospital ที่ให้บริการตรวจรักษา Exotic Pet โดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงกระต่ายด้วย